“สำหรับดอนที่ไม่มีสัญชาติแล้วเรียนต่อมหาลัย ไม่มีสิทธิ์ที่จะกู้เรียนกยศ.แน่นอน นั่นจึงทำให้ดอนรู้สึกดีมากตอนประกาศผลวันนั้น เหมือนดอนมีทางออกสำหรับปัญหานี้ครับ”
ประโยคดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึงของบทสัมภาษณ์นายภัทรดร ธาราอุดมสุข อดีตนักเรียนทุนของมูลนิธิสิกขาเอเซียพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากซึ่งตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจนจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบัน นายภัทรดร นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชน (ภาคสนาม) สมาคมศูนย์การศึกษาและวัฒธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย นายภัทรดร ธาราอุดมสุข หรือชื่อเดิม นายอนาดร เคยเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแม่สลิดน้อย หมู่บ้านที่ติดแม่น้ำเมยซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหภาพเมียนมาร์ ประชากรทั้งหมดเป็นชาติพันธ์ชนเผ่ากระเหรี่ยง ซึ่งวิถีชีวิตส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อยังชีพเท่านั้น ซึ่งนายภัทรดรนั้นได้รับสัญชาติไทยเมื่อปี 2565 หรือเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา โดยวันนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายภัทรดร ถึงเรื่องราวเมื่อครั้งยังเป็นเด็กจนถึงปัจจุบัน
SAF : สวัสดีครับ
ภัทรดร : สวัสดีครับ
SAF : ช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ
ภัทรดร : ผมชื่อ นายภัทรดร ธาราอุดมสุข หรือชื่อ เดิมชื่อนายอนาดร เรียกผมสั้นๆว่าดอน ก็ได้ครับ ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชน (ภาคสนาม) สมาคมศูนย์การศึกษาและวัฒธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ครับ
SAF : พี่ขอถามหน่อยครับว่าตอนเด็กๆดอนอยู่บ้านแม่สลิดน้อยใช่ไหมครับ
ภัทรดร : ใช่ครับ
SAF : แล้วตั้งแต่เด็กเลยดอนอยู่กับใครบ้าง
ภัทรดร : อยู่กับพ่อแม่กับพี่น้องทั้งหมด6คนเลยครับ
SAF : แล้วตอนนั้นพ่อแม่ประกอบอาชีพอะไรครับ
ภัทรดร : พ่อแม่ก็ทำไร่ทำนาครับ
SAF : ช่วยเล่าวิถีชีวิตหมู่บ้านของดอนเมื่อครั้งดอนยังเป็นเด็กหน่อยครับ
ภัทรดร : สมัยตอนเป็นเด็กเท่าที่จำได้ก็ ความเป็นอยู่ของหมู่บ้านส่วนหลักก็จะไร่หมุนเวียนครับ ไร่หมุนเวียนก็จะไปทำที่รัฐกะเหรี่ยงอีกฝั่งนึงของไทย คือเช้ามาบางคนก็จะพายเรือไปอีกฝั่งที่มีไร่มีสวน พอตกเย็นกลับมาฝั่งไทย อีกส่วนหนึ่งก็มีที่ดินในฝั่งไทยทำไร่หมุนเวียนเช่นกันครับ และคนสลิดน้อยส่วนหนึ่งอพยพมาจากรัฐกะเหรี่ยงที่มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านแม่สลิดน้อยอาชีพคนหล่านี้จะเป็นรับจ้างทั่วไปครับ และเมื่อก่อนประปา ใช้ประปาภูเขา ตอนนั้นน้ำยังเข้าไปถึงแค่ไม่กี่ครัวเรือนครับ ถ้าจะใช้น้ำก็ต้องไปตักไปอาบที่ป่าต้นน้ำใกล้กับห้องเรียนสาขาบ้านแม่สลิดน้อย อีกส่วนหนึ่งก็ใช้น้ำเมยในการอาบน้ำ ไว้ดื่ม ไว้ประกอบอาหารด้วยครับ เช่นบ้านดอน ติดน้ำเมย ครับ
นายภัทรดร (คนที่ 1 นับจากทางขวา) เมื่อครั้งสมัยมัธยมต้น
SAF : มาที่เรื่องของการเป็นนักเรียนทุน ตอนนั้นดอนรู้เรื่องการรับสมัครขอทุนการศึกษาจากใครครับ
ภัทรดร : รู้จากคุณครูธรรมนูญ แจ่มอยู่ครับ
SAF : และดอนก็ได้รับทุนตั้งแต่ตอนนั้นที่เป็นระดับมัธยมจนจบระดับอุดมศึกษาเลยใช่ไหม
ภัทรดร : ใช่ครับ
SAF : พี่อยากจะทราบความรู้สึกเมื่อตอนที่ดอนได้รับทุนตอนมัธยมครับ
ภัทรดร : ตอนนั้นรู้สึกดีมากครับ ที่ได้รับการพิจารณา คือมันเป็นทุนการศึกษาแรกในชีวิตการเข้าเรียนครับ ตอนนั้นมองว่าเหมือนได้รับโอกาศทางการศึกษาทำให้มีกำลังใจในการเรียนมากครับ
SAF : แล้วดอนก็มาขอรับทุนต่อในระดับอุดมศึกษาซึ่งตอนนั้นดอนไม่ได้รอบแรกแต่ว่าบังเอิญว่าเพื่อนดอนสละสิทธิแล้วลำดับสองรองที่มาแทนเป็นเรา ตอนที่มีชื่อดอนว่าได้ทุนระดับอุดมศึกษาต่อตอนนั้นเรารู้สึกยังไง ?
ภัทรดร :ตอนประกาศทุนระดับอุดมศึกษา ปี 60 ตอนนั้นทางพี่เบียร์(ผู้ประสานงานโครงการทุนการศึกษา)บอกว่า มีคนสมัครทั้งหมดประมาณ 35 คน แต่จะคัดเลือกแค่ 5 คน ตอนประกาศชื่อรอบแรกไปตอนนั้น ดอนไม่ได้รับการพิจารณา ต่อมาได้มีการเปลี่ยนตัวประกาศผู้ได้รับการพิจารณาทุนใหม่เป็นชื่อดอน ตอนนั้นที่ได้รู้ว่าได้รับการพิจาณาแล้ว รูู้สึกมีความสุข และเปี่ยมล้นไปด้วยความตื้นตันใจ เหมือนได้รับโอกาสทางการศึกษาโดยมีทุนนี้เป็นใบเบิกทาง รู้สึกพิเศษมากๆครับ สำหรับดอนที่ไม่มีสัญชาติแล้วเรียนต่อมหาลัย ไม่มีสิทธิ์ที่จะกู้เรียนกยศ.แน่นอน นั่นจึงทำให้ดอนรู้สึกดีมากตอนประกาศผลวันนั้น เหมือนดอนมีทางออกสำหรับปัญหานี้ครับ
SAF : พูดถึงเรื่องการไม่มีสัญชาติของเรา บอกพี่หน่อยได้ไหมว่าการที่ดอนเป็นคนไร้สัญชาติมีความลำบากยังไง
ภัทรดร : สำหรับดอน การไม่มีสัญชาติไทย มีปัญหาอยู่ 2 ส่วนครับ 1.) ไม่เท่าเทียมกับคนอื่น ไม่เท่าเทียมนั่นหมายความว่า หลายๆอย่างเราจะได้ไม่เหมือนคนมีสัญชาติไทย เช่น จะไปเรียนต่อต่างจังหวัดเราก็ต้องขออนุญาติทำหนังสือไปเรียนซึ่งคนที่มีสัญชาติไทยไม่ต้องทำอะไรเลยสามารถไปเรียนได้เลย ่้ และเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าให้เลือกได้ระหว่างคนจนกับคนที่ไม่มีสัญชาติ จะเลือกอะไร ก็ขอเลือกเป็นคนจนเพราะคนจนยังมีทางเลือกที่จะทำอะไรหลายอย่าง แต่คนที่ไร้สัญชาติไม่มีทางเลือกอะไรเลย เป็นเหมือนขาดอิสระภาพในการใช้ชีวิตครับ 2.) สภาพจิตใจ การไม่มีสัญชาติของดอนมันเป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกอายคนอื่นมากที่เป็นคนไร้สัญชาติ โทษพ่อแม่ที่ทำให้เกิดมาแล้วทำให้ลูกไม่มีสัญชาติ และไม่กล้าไปแสดงศักยภาพให้คนรอบข้างเห็นกลัวและอายที่คนอื่นจะรู้ว่าเราไม่มีสัญชาติ และพยายามปกปิดตัวเองเพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ว่าเราไร้สัญชาติ
นายภัทรดร เมื่อครั้งได้รับทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
SAF : แล้วดอนใช้เวลาในการขอสัญชาติกี่ปีครับ
ภัทรดร : การขอสัญชาติ เริ่มตั้งแต่ตอนอยู่มัธยมปลายทั้งรวบรวมเอกสารรวมถึงหลักฐานพยานต่างๆ และเข้าสู่กระบวนการขอสัญชาติจริงๆเมื่อปี 2561 ถึง ปี 2565 ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ในการขอสัญชาติครับ
SAF : โห 5 ปีจัดว่านานเลยนะ
ภัทรดร : ใช่ครับนานมากครับ
SAF : แล้วนามสกุล “ธาราอุดมสุข” ใครเป็นคนตั้งให้
ภัทรดร : ผู้อาวุโส ที่ทำงานที่ดอนนับถือ ตั้งให้ครับ
SAF : แล้วความหมายของนามสกุลนี่คืออะไรหรอครับ ?
ภัทรดร : สายน้ำที่อุมสมบูรณ์และเปี่ยมล้นไปด้วยความสุขครับ เหมือนสายน้ำที่มีชีวิตมีความอุดมสมบูรณ์ ประมาณนี้ครับ
SAF : ความหมายดีมาก
ภัทรดร : ใช่ครับผม
SAF : แล้วความรู้สึกหลังจากที่ได้รับสัญชาติไทยละครับ
ภัทรดร : หลังจากที่ได้สัญชาติไทยดอนรู้สึกได้ถึงแสงสว่าง ตอนได้รับสัญชาติและเป็นคนไทยเต็มตัว ดอนรู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่ เหมือนได้รับชีวิตใหม่ ต่างจากตอนที่ยังเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตอนนั้นมันเหมือนอยู่ในความมืดและมีแต่ความไม่ชัดเจน แต่ว่าในตอนนี้หลังจากที่ได้สัญชาติไทย ผมรู้สึกได้ถึงแสงสว่าง เหมือนชีวิตผมไม่มีอุปสรรคใดๆ แล้วดอนก็รู้สึกสบายใจในทุกที่ที่ไป หลังจากที่ได้บัตรประชาชนไทย ดอนไม่กังวลเวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจและขอดูเอกสารประจำตัวอีกเลย และมีอิสรภาพในการใช้ชีวิตเหมือนยกภูเขาออกจากอก ผมมีโอกาสมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทำงาน มีอิสรภาพในการใช้ชีวิตและดอนมองว่าสัญชาติไทยคือโอกาสเพื่อที่จะมีสิทธิและเสรีภาพเฉดเช่นมนุษย์คนหนึ่งพึงจะมีครับ
นายภัทรดรในปัจจุบัน
SAF : ย้อนกลับไปเรื่องทุน ดอนคิดว่าทุนที่ดอนได้ตั้งแต่มัธยมจน มหาวิทยาลัย คิดว่าช่วยอะไรได้มากขนาดไหนบ้าง
ภัทรดร : ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสำหรับการเรียนถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถเรียนได้ และสำหรับทุนนี้ของมูลนิธิสิกขาเอเชีย ที่ดอนได้รับโอกาสตั้งแต่เรียนอยู่มัธยมถึงจบป.ตรี ทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในการเรียนของดอน ช่วยให้ดอนเรียนจบป.ตรี ช่วยให้ดอนได้ถึงฝั่งฝา แล้วช่วยยังไง ก็สำหรับเงินทุนนี้ช่วยในเรื่องค่าอุปกรณ์การเรียนอื่นๆที่เราต้องออกเองตอนเรียนมัธยม และจ่ายค่าเทอมการศึกษาตลอด 8 เทอมการศึกษา หรือตลอด4 ปีที่เรียนในมหาลัย ดอนใช้เงินทุนการศึกษานี้ชำระทั้งหมด นับว่าเป็นทุนที่เยอะมากสำหรับดอน เพราะถ้าไม่มีทุนนี้ดอนจะลำบากมากเหมือนกันในการที่จะจ่ายค่าเทอมตลอด4ปี
SAF : แล้วดอนอยากจะมีอะไรฝากถึงผู้สนับสนุนไหมครับ ?
ภัทรดร : ขอบคุณท่านผู้อุปการคุณที่เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของเด็กชายคนนี้นะครับ วันนี้ดอนเรียนจบและได้ทำงานกับNGO เหมือนกัน ได้เจอผู้คน ได้เจอปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างของการศึกษา ยังมีเด็กไทยและเด็กไร้สัญชาติหลายแสนคนยังเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาและหลุดออกจากระบบการศึกษาทำให้กลายเป็นปัญหาจนทุกวันนี้ และสำหรับท่านผู้อุปการคุณทุกท่านและ มูลนิธิสิกขาเอเชียที่ให้ความสำคัญเรื่องของการศึกษา การศึกษาที่จะเป็นใบเบิกทางให้กับอนาคตของเรา การศึกษาที่ไม่ใช่เพียงใบปริญญา แต่คือความรู้ ทัศนคติ และมุมมอง ความคิดต่อคนในสังคมกว้างขึ้น ที่จะทำคนหนึ่งคนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณภาพครับ ขอบคุณครับ
นี่คือหนึ่งในความสำเร็จที่เราได้ให้โอกาสให้เขาได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและยังมีเด็กๆอีกหลายคนที่ยังขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาและเราก้ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อที่จะช่วยให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสและหลุดพ้นจากความยากจนต่อไป ท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบโอกาสให้พวกเขาเหล่านี้ได้โดยการบริจาคผ่านหมายเลขบัญชี 017-2-53836-3 ธนาคารกสิกร